พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระบรมมหาราชวัง

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริจะสร้างพระที่นั่งขึ้นอีกองค์หนึ่งเป็นท้องพระโรง จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จ้างสถาปนิกจากสิงคโปร์ ชื่อ มิสเตอร์ ยอน คลูนิช เป็นนายช่างหลวง ทำการออกแบบพระที่นั่งองค์นี้ โดยมีมิสเตอร์ แฮนรี่ คลูนิช โรส เป็นนายช่างผู้ช่วย สถาปนิกคนนี้ได้รับการยกย่องว่า “เป็นผู้ที่ได้ทำที่อยู่ผู้สำเร็จราชการเมืองสิงคโปร์เป็นเหตุให้ปรากฏชื่อเสียง จึงเรียกเข้ามารับราชการเป็นนายช่างสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท”  นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีเป็นแม่กอง พระยาเวียงในนฤบาลเป็นผู้กำกับดูแลการทุกอย่าง และพระประดิษฐการภักดีเป็นผู้ตรวจกำกับบัญชีและของทั้งปวง ทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพุธ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมง กับ ๓๖ นาที (๗ พ.ค. ๒๔๑๙)

 

เนื่องด้วยพระที่นั่งองค์นี้จะสร้างขึ้นทางด้านทิศเหนือของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ จึงต้องรื้อเขื่อนเพ็ชรที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลนี้รวมไปถึงมุขหน้าพระที่นั่งทั้ง ๒ องค์นี้ออกด้วย พระราชดำริเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้เป็นแบบตะวันตก ขณะที่กำลังทำการก่อสร้างพระที่นั่งองค์นี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้กราบบังคมทูลขอให้ทำเป็นปราสาท โดยอ้างเหตุผล ๒ ประการ คือ

 

๑. กรุงศรีอยุธยามีปราสาทเรียงกัน ๓ องค์ คือพระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ส่วนที่กรุงเทพฯ มีหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอยู่แล้ว พระที่นั่งจักรีสร้างตรงกลางเสมือนพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ฉะนั้นพระที่นั่งจักรีควรสร้างเป็นปราสาทด้วย

 

๒. นับตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสร้างปราสาทมาทุกรัชกาล ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ได้ทรงสร้างปราสาทแต่ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระที่นั่งมหิศรปราสาทขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลงพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ซึ่งแต่ก่อนเป็นพลับพลามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เปลี่ยนหลังคาเป็นยอดปราสาท ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

 

ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอนุโลมตาม และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนทรงหลังคาเป็นรูปปราสาท ๓ ยอด และต่อมาได้พระราชทานนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

 

พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยกยอดปราสาท เมื่อวันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๔๐ (พ.ศ. ๒๔๒๑) และมีการเฉลิมพระราชมณเฑียรใน พ.ศ. ๒๔๒๕

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง พิมพ์ครั้งแรก เมษายน ๒๕๓๑

เปิดให้บริการ วันอังคาร – อาทิตย์ : 09.00 – 17.00 น.
ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดวันจันทร์)

ชาวไทย 70 บาท
ชาวต่างชาติ 100 บาท
เด็ก นักเรียน ผู้สูงอายุ ภิกษุ และผู้พิการ เข้าชมฟรี

100 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200