โครงการพัฒนาคลองแม่ข่า 2
โครงการพัฒนาคลองแม่ข่า ตอนที่ 2
คลองแม่ข่า 1 ในชัยมงคล 7 ประการ ที่มีประวัติความเป็นมาควบคู่กับเมืองเชียงใหม่ มากว่า 725 ปี ทำหน้าที่เป็นคูเมืองชั้นนอก ที่โอบล้อมเมืองเชียงใหม่ ด้วยเส้นทางที่ไหลคดเคี้ยวอ้อมเมืองไปมา และยังช่วยในการระบายน้ำจากเขตตัวเมืองลงไปยังแม่น้ำปิง จึงมีส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในฤดูน้ำหลาก และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค และการสัญจรทางน้ำของคนในพื้นที่ ต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นที่หมายหลักของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงทำให้ตัวเมืองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับที่ในเวลานั้นยังไม่มีแผนรองรับการเติบโตที่ดี ไม่มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีระบบจัดการพื้นที่อยู่อาศัย และไม่มีการวางระบบบำบัดน้ำเสีย จึงทำให้ชุมชนริมคลองแม่ข่ากลายเป็นชุมชนแออัด มีการปลูกสร้างบ้านรุกล้ำไปในลำคลอง เกิดปัญหาขยะในลำคลอง น้ำเน่าเสีย และสภาพแวดล้อมโดยรอบเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่เป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในคลองแม่ข่า ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยราชการในพระองค์ ดำเนินโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ลงพื้นที่ทำกิจกรรมจิตอาสา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และประชาชนจิตอาสาจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต่างร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาลำคลอง และปรับภูมิทัศน์ของคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ตั้งแต่พุทธศักราช 2561 นับเป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตัว เห็นความสำคัญและความสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการพัฒนาและอนุรักษ์คลองแม่ข่าของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชนในท้องถิ่น นับแต่นั้นเป็นต้นมา
จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคลองแม่ข่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนของลำคลอง การบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงคลอง การพัฒนาพื้นที่คลอง โดยการขุดลอกและกำจัดวัชพืช รวมไปถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ส่งผลให้บริเวณดังกล่าว มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น พร้อม ๆ กับที่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ไปในเวลาเดียวกัน ความสำเร็จของโครงการพัฒนาคลองแม่ข่า จึงสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการจัดทำโครงการพัฒนาคูคลองในแหล่งชุมชนต่าง ๆ อีกมากมายหลายแห่ง เป็นการขยายผลจากจุดเล็ก ๆ ไปสู่ภาพรวมในระดับประเทศ
คลองแม่ข่าในวันนี้ ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้มาเยือนมีการจัดทำผังกำหนดโซนประเภทสินค้าและบริการอย่างเป็นระบบ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แก่ทั้งชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว มีการปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ รวมถึงพืชผักสวนครัว และดำเนินการด้านการอนุรักษ์และปรับภูมิทัศน์บริเวณกำแพงดิน ซึ่งเป็นกำแพงเมืองเชียงใหม่เดิม ให้สะท้อนถึงสถานที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งมีการพัฒนาปรับปรุงบ้านเรือนริมคลองแม่ข่าให้สะอาดสวยงาม และยังคงรักษาวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน
นอกจากภูมิทัศน์ที่สวยงามสะอาดตา และการได้มาซึ่งแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่แล้ว ผลพวงอันสำคัญที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาคลองแม่ข่า ก็คือพลังการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะเป็นกลไกในการสร้างความรู้สึกสำนึกรักในถิ่นที่อยู่อาศัย และยังจะถ่ายทอดไปสู่เด็กเยาวชน คนรุ่นต่อไปให้มีความภาคภูมิใจและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคลองแม่ข่าให้อยู่คู่กับจังหวัดเชียงใหม่ และคู่กับประเทศไทย อย่างยั่งยืนสืบไป